Supreme Artist : His Majesty King Bhumibol Adulyadej อัครศิลปิน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

Supreme Artist Music

Supreme Artist Music
Supreme Artist Music

Supreme
พระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร.

พระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร.
สืบเนื่องจากพุทธศักราช ๒๕๐๖ พระสาสนโสภณ แห่งวัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี ได้จัดสร้างพระพุทธรูปแบบ สุโขทัยปางประทานพร โดยนำแบบของพระพุทธรูปที่สร้างในโอกาส ๗๒ ปีศิริราช ซึ่งพระธรรมจินดาภรณ์ (ทองเจือ จินฺ ตากโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นผู้ออกแบบ และได้ขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.

Supreme

Supreme
พระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร.
หน้าตักกว้าง ๙ นิ้ว สูง ๑๒.๕ นิ้ว


ไปประดิษฐานเหนือผ้าทิพย์ และแก้ไขให้นิ้วพระหัตถ์ขวาที่ทอดลงให้กระดกมากขึ้น พระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร. รุ่นเทวสังฆาราม จึงนับเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.ประดับที่ผ้าทิพย์ขึ้น เป็นครั้งแรก และเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงนำไปพระราชทานแด่ ทหาร ตำรวจ และหน่วยราชการ เป็นที่ซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริที่จะหล่อพระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร. ขึ้น เป็นครั้งที่สองที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในช่วงเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘

โดยมีพระราชประสงค์ให้ดัดแปลงพระพุทธลักษณะจากพระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร.รุ่นเทวสังฆาราม พระราชทาน พระราชดำริเรื่องรูปแบบของพระพุทธลักษณะเพิ่มเติมว่า พระพุทธรูปนี้ควรมีความเข้มแข็ง แต่ไม่แข็งกระด้าง อ่อนโยนแต่ ไม่อ่อนแอ มีพระเมตตา ผู้ที่ได้ชื่นชมพระพุทธรูปองค์นี้หากมีจิตใจอ่อนไหวก็ให้รู้สึกเข้มแข็ง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ประติมากรเป็นผู้ปั้นแบบพระพุทธรูปขึ้นใหม่ตามแนวพระราชดำริ

ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ พร้อมพระราชทานภาษิตเป็นภาษาบาลี และไทยจารึกที่ฐานพระพุทธรูปว่า

ทยฺยชาติยา สมคฺติยํ สติสญฺชานเนน โภชิสิยํ รกฺขนฺติ คนชาติไทยจะรักษาความเป็นไทอยู่ได้ด้วยมีสติสำนึกอยู่ในความสามัคคี

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีหล่อพระพุทธรูป ณ วัดบวรนิเวศวิหาร มีพระราชประสงค์ให้ประชาชนเช่าสักการะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล

Supreme
พระพุทธนวราชบพิตรปั้นโดย
ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ พุทธศักราช ๒๕๐๙


Supreme
พระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร
แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย


พระพุทธนวราชบพิตร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๙ โดยมีนายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ เป็นผู้ปั้นแบบถวาย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ทรงดูแลและพระราชทานพระราชวินิจฉัยอย่างใกล้ชิดจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หล่อขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๙ จำนวน ๑๐๐ องค์ พระราชทานนามว่า พระพุทธนวราชบพิตร ลักษณะสำคัญของพระพุทธนวราชบพิตรคือ บรรจุพระสมเด็จจิตรลดา พระพิมพ์ส่วนพระองค์ที่ทรงสร้างด้วยพระองค์เอง ไว้ที่กึ่งกลางฐานบัวหงาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรแก่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และหน่วย ทหาร รวมทั้งหน่วยงานที่ไปปฏิบัติงานที่ประเทศเวียดนาม โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานที่จังหวัดหนองคาย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐ เป็นแห่งแรก พระพุทธนวราชบพิตร ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งพระเมตตากรุณาที่ทรงพระราชทานให้กับพสกนิกรทั่วประเทศเพื่อสร้างขวัญ กำลังใจให้กับคนไทยทั้งชาติ ประกอบกับมวลสารศักดิ์สิทธิ์ที่ทรงบรรจุในเนื้อพระพิมพ์สมเด็จพระจิตรลดา ซึ่งประดิษฐาน ที่ฐานองค์พระด้วยนั้น นับว่าพระพุทธนวราชบพิตรเป็นนิมิตรหมายแห่งความเป็นหนึ่งเดียวของชาติไทย ดังในพระราช ดำรัสเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรให้กับจังหวัดอุดรธานีว่า “ พระพุทธนวราชบพิตรนี้ นอกจากจะถือเป็นนิมิตรหมายแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยอันเป็นที่เคารพสูงสุดแล้ว ข้าพเจ้ายังถือเสมือนเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชาติไทย และความสามัคคีกลมเกลียวกันของ ประชาชนชาวไทยอีกด้วย ข้าพเจ้าจึงได้บรรจุพระพิมพ์ ซึ่งทำด้วยผงศักดิ์สิทธิ์จากทุกจังหวัดดังกล่าวแล้ว และนำมามอบให้แก่ท่านด้วยตนเอง” สำนักพระราชวังได้ออกระเบียบการปฏิบัติสำหรับจังหวัดที่รับพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร มีสาระสำคัญ ดังนี้
๑ ให้ประดิษฐานไว้ ณ ที่อันควรในศาลากลางจังหวัด
๒ เมื่อมีงานพิธีให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรขึ้นประดิษฐานเป็นพระบูชา อาจมียกเว้นได้ตามความเหมาะสม
๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพระราชพิธีที่ทางจังหวัดจัดขึ้น ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระราชพิธี
๔ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ณ จังหวัดใด ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานไว้เพื่อทรงนมัสการ
๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ จังหวัดใด ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตร มาประดิษฐาน ณ ที่ประทับ ๖ ทางจังหวัดสามารถอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรออกให้ประชาชนนมัสการบูชาได้ตามแต่จะเห็นสมควร


พระพุทธรัตนสถาน พระบรมมหาราชวัง

ความเป็นมาและความสำคัญของพระพุทธรัตนสถาน พุทธศักราช ๒๓๙๔
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระที่นั่งพุทธรัตนสถาน เพื่อเป็นพระวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย (พระแก้วขาว) อัญเชิญมาจากเมืองจำปาศักดิ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๕๕ พระพุทธปฏิมาองค์นี้ มีความสำคัญรองลงมาจากพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)

พุทธศักราช ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต แล้วเสร็จจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตน์ฯ ไปประดิษฐานไว้ที่ชั้น ๓ ของพระที่นั่งอัมพรสถานจนถึงปัจจุบันนี้

พระพุทธรัตนสถานตั้งอยู่ที่สวนศิวาลัย เขตพระราชฐานชั้นกลาง ด้านตะวันออกในพระบรมมหาราชวัง เป็นอาคารที่สร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม ในพุทธศักราช ๒๔๑๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แปลงพระพุทธรัตนสถานเป็นพระอุโบสถ ผูกพัทธสีมา สำหรับการทำสังฆกรรม ในพิธีทัฬหีกรรมขณะทรงพระผนวช และได้เป็นราชประเพณีสืบมาที่พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมวงศ์ที่ทรงผนวชที่ วัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว จะเสด็จไปทำทัฬหีกรรม ณ พระพุทธรัตนสถาน


สภาพพระพุทธรัตนสถานที่ชำรุดเสียหาย
จากระเบิดสมัยสงครามโลก


พระพุทธรัตนสถานเป็นสถานที่สำคัญใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญทางพุทธศาสนามาหลายรัชสมัย จนกระทั่งพุทธศักราช ๒๔๘๔ เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีระเบิดตกลงในพระบรมมหาราชวัง ด้านข้างพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน ทำให้ได้รับความเสียหายโดยเฉพาะฐานด้านเหนือของพระอุโบสถ แต่ด้วยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ที่ยังทรงพระเยาว์ และทรงศึกษาอยู่ต่างประเทศ จึงยังไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แต่ประการใด



จิตรกรรมฝาผนังด้านทิศเหนือ

จิตรกรรมฝาผนังด้านทิศเหนือ

จิตรกรรมฝาผนังในพระพุทธรัตนสถาน พุทธศักราช ๒๕๐๔
จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงได้มีการบูรณะซ่อมแซมตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ - ๒๔๙๖ จนแล้วเสร็จสมเกียรติแห่งพระราชฐาน และในปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ สำนักพระราชวังได้มอบหมายให้กรมศิลปากร ดำเนินการเขียนจิตรกรรมฝาผนังระหว่างช่องพระบัญชร ๘ ช่อง เป็นเรื่องพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจใน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พุทธศักราช ๒๔๘๘-๒๔๙๙ โดยการเขียนภาพทั้งหมดนั้นอยู่ในการดูแลและรับผิดชอบของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี บรมครูของวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย พร้อมด้วยคณาจารย์ และข้าราชการจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ลักษณะของภาพจิตรกรรมเป็นแบบไทยประเพณีร่วมสมัยที่ผสมผสานความเป็นจริงจากเหตุการณ์ในขณะนั้น ด้วยการวาดภาพบรรยากาศและบุคคลตามจริง



ห้องภาพที่ ๑
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหา
อานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ
เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช
และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์
เสด็จนิวัตพระนคร
พุทธศักราช ๒๔๘๘


ห้องภาพที่ ๒
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓


ห้องภาพที่ ๓
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓


ห้องภาพที่ ๔
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
เสด็จนิวัตพระนคร


ห้องภาพที่ ๕
การบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธรัตนสถาน


ห้องภาพที่ ๖
เหตุการณ์คราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงพระผนวช พุทธศักราช ๒๔๙๙


ห้องภาพที่ ๗
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงพระผนวช พุทธศักราช ๒๔๙๙


ห้องภาพที่ ๘
พระราชจริยวัตรพระภิกษุพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๙๙




พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จพระราชดำเนินวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร
๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๖


การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถานรัชกาลปัจจุบัน
วันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปสมโภชวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จังหวัดนนทบุรี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ทอดพระเนตรและทรงทราบถึงแนวทางการอนุรักษ์จิตรกรรม ฝาผนังเก่าได้ด้วยการถอดลอกจิตรกรรมเดิมไปอนุรักษ์ไว้ จึงมีพระราชปรารภให้กรมศิลปากรนำแนวทางการอนุรักษ์ เช่นนี้ไปดำเนินการกับจิตรกรรมฝาผนังทั้ง ๘ ช่อง ที่เขียนขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ แล้วเขียนใหม่ให้สอดคล้องและกลมกลืนกับจิตรกรรมฝาผนังเดิมตอนบนซึ่งเป็นเรื่องประวัติของพระพุทธบุษยรัตน์ ที่วาดไว้ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ เพื่อให้เป็นไปตามเจตคติของช่างไทยโบราณในการวาดจิตรกรรมฝาผนังไทยซึ่งจะกำหนดภาพผลงานให้เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธประวัติ หรือประวัติความสำคัญของสถานที่เป็นเรื่องสำคัญ



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน
แนวทางการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง
พระพุทธรัตนสถาน ครั้งแรก ณ พระตำหนัก
เปี่ยมสุข วังไกลกังวล
วันที่ ๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๒


กรมศิลปากรรับพระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานเขียนภาพจิตรกรรมพระพุทธรัตนสถาน โดยมีแนวทางที่จะอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังชุดเดิมที่เขียนเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๔ ด้วยการลอกและเคลื่อนย้ายไปตั้งแสดงในที่เหมาะสม และทำการเขียนจิตรกรรมฝาผนังขึ้นใหม่ให้เป็นแบบจิตรกรรมไทยให้เนื้อเรื่องเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธรัตนสถานตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธรัตนสถานในทุกรัชกาล ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

คณะทำงานพิจารณา กำหนดแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญและศิลปินเข้าร่วมในการปฏิบัติงาน โดยได้เขียนภาพตัวอย่างศิลปกรรมหลากหลายแบบ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานพระราชวินิจฉัยนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป และได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้กรมศิลปากรเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชกระแสรวม ๔ ครั้ง ในระหว่างพุทธศักราช ๒๕๔๒ - ๒๕๔๕ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์



คณะทำงานได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวาย
คำอธิบายภาพร่างจิตรกรรมฝาผนัง
พระพุทธรัตนสถาน
ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓


สรุปสาระสำคัญในพระราชดำริ ดังนี้
๑ เนื้อหาของจิตรกรรมควรยึดเรื่องประวัติพระพุทธรัตนสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมราชจักรีวงศ์

๒ ลักษณะและรูปแบบของภาพจิตรกรรมควรเป็นแนวเดียวกันกับของเดิมด้านบนที่เขียนตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๓ รักษาลักษณะของจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยประเพณี ใช้หลักการจัดภาพในมุมมองแบบวิวตานกเป็นจิตรกรรมไทยแบบสองมิติ

๔ ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ที่ควรถูกต้องทั้งด้านข้อมูล สถาปัตยกรรม ประเพณี พระราชพิธีต่างๆ เครื่องแต่งกาย และประวัติศาสตร์ศิลปะ

๕ ภาพจิตรกรรมที่เหมือนจริง ให้เขียนภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และบุคคลสำคัญ ตามที่เป็นจริง หลังจากที่ได้รับพระราชทานแนวพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยอย่างละเอียดและต่อเนื่อง จนสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการกำหนดเนื้อหาในแต่ละช่อง ดังนี้


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชวินิจฉัย
แบบร่างจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน
ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔


พระราชทานพระราชดำรัสแบบร่าง ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อวันศุกร์ที่ ๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕ “การเขียนภาพนี่ก็ต้องไปแก้ไขกันใหม่ ฉันก็เกรงใจอยู่ แต่รักมากที่โบสถ์นี้สวยมาก ถ้าได้รูปที่มีความหมายก็จะสวยมาก นี่ฉันเห็นแล้วพอใจขึ้นมาก ดูแล้วไม่สมัยโบราณเกินไป และใหม่เกินไป” พระราชดำรัสพระราชทานคณะทำงาน (กรมศิลปากร, ๒๕๔๘, เล่ม ๒ : ๗๘)



ผนังด้านทิศใต้
ระหว่างช่องพระบัญชรที่ ๑

เหตุการณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
การสร้างพระพุทธรัตนสถาน
พุทธศักราช ๒๓๙๖


ผนังด้านทิศใต้
ระหว่างช่องพระบัญชรที่ ๒

เหตุการณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
พระราชพิธียกช่อฟ้าและพระราชพิธีสมโภช พุทธศักราช ๒๔๐๔


ผนังด้านทิศใต้
ระหว่างช่องพระบัญชรที่ ๓

เหตุการณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕


ผนังด้านทิศใต้
ระหว่างช่องพระบัญชรที่ ๔
เหตุการณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ตอนบน เหตุการณ์การสร้างเรือรบ
พระร่วง ตอนกลาง พระราชพิธีตัดไม้
ข่มนาม ตอนล่าง พระราชพิธีอภิเษกสมรส


ผนังด้านทิศเหนือ
ระหว่างช่องพระบัญชรที่ ๕

เหตุการณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
ตอนบน การสมโภชพระนคร ๑๕๐ ปี
พุทธศักราช ๒๔๗๕


ผนังด้านทิศเหนือ
ระหว่างช่องพระบัญชรที่ ๖

เหตุการณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ
พระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘


ผนังด้านทิศเหนือ
ระหว่างช่องพระบัญชรที่ ๗

เหตุการณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ
พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
รัชกาลที่ ๙

ผนังด้านทิศเหนือ
ระหว่างช่องพระบัญชรที่ ๘

เหตุการณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ
พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
รัชกาลที่ ๙ ตอนบน โครงการ
ตามพระราชดำริ เรื่องทฤษฎีใหม่
และเศรษฐกิจพอเพียง

Supreme
ภายในพระอุโบสถ.

Supreme
พระอุโบสถที่เรียบง่ายและงามสง่า ตามแนวพระราชดำริ

พระอารามหลวงชั้นตรี
วัดประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกำเนิดมาจากแนวพระราชดำริที่มีพระราชประสงค์ให้ วัดเป็นศูนย์กลางและตัวอย่างของชุมชน ตามหลัก บวร หมายถึง บ้าน วัด ราชการ ระยะแรก ในช่วงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบพื้นที่ชุมชนบึงพระราม ๙ จนต่อมากลายเป็น โครงการบึงพระราม ๙ ในปัจจุบันที่ดำเนินงานเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำเน่าเสียและพัฒนาสภาพแวดล้อมรอบชุมชนให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมให้ควรจัดตั้งวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในพื้นที่ จึงได้เป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการสร้างวัด โดยเริ่มก่อสร้างในพุทธศักราช ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามวัดว่า วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

พระราชประสงค์สำคัญในการสร้างวัด คือ ประหยัด เรียบง่าย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน ทรงติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทรงปรับงบประมาณลงจากเดิม ๑๐๐ ล้านบาทเป็นไม่เกิน ๑๐ ล้านบาท พร้อมทั้งมีพระราชวินิจฉัย ให้ลดขนาดพระอุโบสถ และอาคารแวดล้อมให้มีขนาดเล็กลงตามงบประมาณใหม่ เพื่อเป็นวัดตัวอย่างสืบต่อไป นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบถวายงานตามแนวพระราชดำริ ได้ออกแบบอาคารให้สวยงามและเรียบง่าย มุ่งเน้นที่จะใช้ประโยชน์ภายในอาคารอย่างเต็มที่ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นการประสานศิลปกรรมไทยแบบโบราณ และความร่วมสมัยเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน

สถานที่ตั้งของวัด : เลขที่ ๙๙๙ ซอย ๑๙ ถนนพระราม ๙ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

Supreme
พระพุทธกาญจนธรรมสถิต
พระประธาน


พระพุทธกาญจนธรรมสถิต
สำหรับพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยเลือกแบบพระพุทธรูปปางมารวิชัยและพระราชทานพระราชวินิจฉัยแก้ไขแบบแล้วพระราชทานนามว่า พระพุทธกาญจนธรรมสถิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ประติมากรเป็นผู้ปั้น ระหว่างพุทธศักราช ๒๕๓๙ - ๒๕๔๐

Supreme

พระมหาชนก พระราชนิพนธ์ร้อยแก้วในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำเค้าโครงเรื่องมาจากมหาชนกชาดกซึ่งเป็น หนึ่งในทศชาติชาดก ปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายชาดก เล่มที่ ๔ ภาคที่ ๒ ทรงแปลพระมหาชนกเสร็จสมบูรณ์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษกทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์พระมหาชนกขึ้นเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงมุ่งเน้นให้นำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนามาเป็นแนวทางดำเนินชีวิตเพื่อความเป็นสิริมงคล ดังปรากฏในพระราชปรารภว่า

ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์

พระราชนิพนธ์เล่มนี้นอกเหนือจากพระปรีชาสามารถทางด้านวรรณกรรมแล้ว พระองค์ยังได้ทรงรังสรรค์ผลงานด้าน ศิลปกรรมตามแนวพระราชดำริในฐานะผู้สร้างสรรค์ และผู้ออกแบบ คือ
๑ จิตรกรรมไทยร่วมสมัย
๒ เหรียญพระมหาชนก
๓ แผนที่ฝีพระหัตถ์
๔ ตัวอักษรเทวนาครี
(สำหรับหัวข้อแผนที่ฝีพระหัตถ์และตัวอักษรเทวนาครี ได้กล่าวแล้วในหัวข้อนฤมิตศิลป์)

จิตรกรรมไทยร่วมสมัย

ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ ในช่วงการดำเนินการจัดพิมพ์พระมหาชนกนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สมบูรณ์ทั้งด้านเนื้อหาและศิลปะอย่างแท้จริง ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะนำเสนอภาพจิตรกรรมไทยแบบร่วมสมัยเพื่อให้หนังสือมีความงดงามวิจิตร สมบูรณ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ศิลปินร่วมสมัยชั้นนำของไทยร่วมสร้างสรรค์จิตรกรรมอันทรงคุณค่าวาดภาพประกอบพระราชนิพนธ์ โดยมีพิษณุ ศุภนิมิตร เป็นหัวหน้าโครงการ และรวบรวมจิตรกรไทยชั้นเยี่ยม จำนวน ๘ ท่าน ร่วมกันสร้างผลงานจิตรกรรมตามพระราชประสงค์ ตามรายชื่อ ดังนี้

๑ ประหยัด พงษ์ดำ
๒ พิชัย นิรันต์
๓ ปรีชา เถาทอง
๔ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
๕ ปัญญา วิจินธนสาร
๖ ธีระวัฒน์ คะนะมะ
๗ จินตนา เปี่ยมศิริ
๘ เนติกร ชินโย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้ศิลปิน และคณะทำงานได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อรับพระราชทานแนวพระราชดำริ และมีพระราชวินิจฉัยผลงานของศิลปินอย่างใกล้ชิดจนงานสำเร็จลุล่วง

Supreme
ผลงานจิตรกรรมตามพระราชประสงค์โดย ศิลปิน เนติกร ชินโย

Supreme
ผลงานจิตรกรรมตามพระราชประสงค์โดย ศิลปิน จินตนา เปี่ยมศิริ

Supreme
ผลงานจิตรกรรมตามพระราชประสงค์โดย ศิลปิน เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

Supreme
ผลงานจิตรกรรมตามพระราชประสงค์โดย ศิลปิน ประหยัด พงษ์ดำ

Supreme
ผลงานจิตรกรรมตามพระราชประสงค์โดย ศิลปิน พิชัย นิรันต์

Supreme
ผลงานจิตรกรรมตามพระราชประสงค์โดย ศิลปิน ธีระวัฒน์ คะนะมะ

Supreme
ผลงานจิตรกรรมตามพระราชประสงค์โดย ศิลปิน ปรีชา เถาทอง

Supreme
เหรียญพระมหาชนก

Supreme
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ภาพชนกชาดก ๒๔๖๘


เหรียญพระมหาชนก ในการจัดพิมพ์พระราชนิพนธ์พระมหาชนกครั้งแรกฉบับปกแข็ง เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้จัดสร้างเหรียญพระมหาชนกควบคู่ไปพร้อมกัน โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประติมากรไทยร่วมกันออกแบบถวายตามแนวพระราชปรารภเรื่องความเพียร ทรงมีพระราชกระแสควรเป็นรูปพระมหาชนกกำลังว่ายน้ำ และหันมาสนทนาธรรมกับนางมณีเมขลากลางมหาสมุทร ซึ่งแนวพระราชดำรินี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงเขียนภาพชนกชาดก ตอน พระชนกโพธิสัตว์ว่ายน้ำกลางมหาสมุทรตรัสโต้ตอบกับนางมณีเมขลาเช่นเดียวกันนี้ไว้เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๘ จึงนำมาเป็นต้นแบบที่ด้านหนึ่งของเหรียญ รูปทรงของเหรียญพระมหาชนกเป็นเหรียญทรงกลมประดับยอดด้วยพระมหาพิชัยมงกุฎ และพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.

ด้านหน้า เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์หล่อนูนต่ำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ด้านล่างพิมพ์คำว่า “วิริยะ” ตามด้วยตัวอักษรเทวนาครี และภาษาอังกฤษคำว่า “Perseverance”
ด้านหลัง เป็นภาพพระมหาชนกกำลังว่ายอยู่กลางมหาสมุทร
มี ๓ แบบคือ เนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อนาก

ผู้ออกแบบเหรียญพระมหาชนก คือ นนทวิรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแนวหน้าของไทย

Rama IX Art Museum