Supreme Artist : His Majesty King Bhumibol Adulyadej อัครศิลปิน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

อัครศิลปิน : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ
อัครศิลปิน Supreme Artist


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นสมเด็จพระมหากษัตราธิราช ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันประเสริฐยิ่งแก่ประชาชาติไทย ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อมหาชนชาวไทยมาโดยตลอดนับแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ในพุทธศักราช ๒๔๘๙ จวบจนปัจจุบัน ทรงพระวิริยอุตสาหะที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพสกนิกร ก่อเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลากหลายสาขาทั่วประเทศ สร้างความผาสุกอย่างยั่งยืนให้กับอาณา ประชาราษฎร์

พระราชกรณียกิจประการหนึ่งที่ทรงให้ความสำคัญควบคู่มากับการพัฒนาประเทศคือ ศิลปวัฒนธรรมที่ทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องอนุรักษ์และสร้างสรรค์ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ อันเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งในการจรรโลงความเจริญทางจิตใจที่ควรจะควบคู่ไปกับความเจริญทางด้านอื่น ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ด้านศิลปะ โดยทรงสนับสนุน ส่งเสริมและทำนุบำรุงศิลปะประเพณีอันดีงามให้ดำรงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของชาติสืบไปในกาลภายหน้า

นอกเหนือจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีบทบาทด้านงานศิลปะในฐานะอัครศิลปิน ด้วยผลงานศิลปะอันทรงคุณค่ามาอย่างต่อเนื่องและหลากหลายสาขา ทั้งในด้านทัศนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ วรรณศิลป์ และนฤมิตศิลป์ ทรงศึกษาค้นคว้า และสร้างสรรค์ผลงานด้วยพระองค์เองมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์และเริ่มมีผลงานศิลปกรรมฝีพระหัตถ์เผยแพร่สู่สาธารณชนตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๘๙ ด้วยบทเพลงพระราชนิพนธ์ และภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จำนวนมาก ต่อมาได้ทรงงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์รวมกว่า ๑๐๐ องค์ เรือใบฝีพระหัตถ์อีกหลายลำ และพระราชนิพนธ์อีกหลายเรื่อง ในระยะเวลาต่อมา นับแต่พุทธศักราช ๒๕๑๑ เป็นต้นมา เมื่อมีพระราชภารกิจเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนเพิ่มมากขึ้น จึงได้ทรงว่างเว้นการทรงงานศิลปะหลายประเภทลง เช่น จิตรกรรมฝีพระหัตถ์และเรือใบฝีพระหัตถ์ที่มิได้ทรงงานอีกเลยรวมไปถึงเพลงพระราชนิพนธ์ที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงเพิ่มเพียง ๖ เพลง แต่ได้ทรงงานด้านศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับประโยชน์โดยส่วนรวมของประชาชน ได้แก่ ทรงถ่ายภาพเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ รวมถึงพระราชนิพนธ์ที่ทรงนิพนธ์และทรงแปลสำหรับพสกนิกรอ่านเป็นคติเตือนใจ ทรงสนพระราชหฤทัยงานด้านคอมพิวเตอร์และทรงนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ และสร้างงานในโครงการต่างๆ รวมไปถึงทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการสร้างสรรค์ศิลปกรรมผ่านศิลปินไทยที่ประสานความเป็นไทยร่วมกับความร่วมสมัยได้อย่างกลมกลืน เช่น ภาพประกอบหนังสือพระมหาชนก และภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน เป็นต้น

ด้วยพระปรีชาสามารถล้ำเลิศในงานศิลปะทั้งปวง ทรงมีคุณาปการต่อวงการศิลปะและศิลปินไทยมาโดยตลอด อีกทั้งทรงได้รับการยกย่องสดุดีในพระเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์ชัดทั้งในประเทศและต่างประเทศ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการได้ถวายพระราชสมัญญา อัครศิลปิน แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๙

เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบบอย่างทั้งในฐานะองค์อุปถัมภ์แห่งศิลปวัฒนธรรมไทย และในฐานะอัครศิลปินผู้ทรงงานอย่างโดดเด่น และทรงเป็นมิ่งขวัญแก่ศิลปินไทยมาโดยตลอด ก่อให้เกิดศิลปินประดับรัชสมัยเป็นจำนวนมากร่วมรังสรรค์ศิลปกรรมเป็นผลงานศิลปะแห่งรัชกาลที่ ๙ อันมีเอกลักษณ์เฉพาะปรากฏสืบต่อไป



Rama IX Art Museum